วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก

การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก 

ความหมายของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก

ในการศึกษาความหมายของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) หมายถึง การเรียน การสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้ปัญหาเป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนมีการตัดสินใจที่ดีมีความคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถเรียนรู้การทำงานเป็นทีม ใฝ่รู้ และมีการเรียนรู้อย่าง ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถก้าวทันกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลก วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการเรียนรู้ (Duch, Groh, & Allen, 2001). การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) หมายถึง วิธีการเรียนรู้     บนหลักการของการใช้ปัญหาเป็นจุดเริ่มต้นในการเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่เดิม ให้ผสมผสานกับข้อมูลใหม่ แล้วประมวลเป็นกับความใหม่ (Barrows, 1982)การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) เป็นวิธีการเรียนรู้ที่เป็น         ผลจากการแก้ปัญหา โดยใช้ความรู้ที่ผู้เรียนทำการสืบค้นเอง (Neufeld & Barrow, 1974; Schmidt, 1993; Barrows, 2000 อ้างถึงใน นภา หลิมรัตน์, 2546) 
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างจากวิธีการสอนแบบดั้งเดิมที่เน้นตัวสาระความรู้ และมุ่งเน้นที่ตัวผู้สอนเป็นสำคัญ แต่จะมุ่งเน้นที่ตัวผู้เรียน โดยถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือผู้เรียนเป็นบุคคลสำคัญ โดยมุ่งที่การใช้ปัญหาจริงหรือการจำลองสถานการณ์เป็นตัวเริ่มต้น (Trigger) กระตุ้นการเรียนรู้ ทักษะการคิดวิจารณญาณใน            ตัวผู้เรียน นำประเด็นจากปัญหาไปสู่การสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อเรียนรู้เพิ่มขึ้น และสร้างความเข้าใจกลไกของตัวปัญหา รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งตามความหมายดังกล่าว การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนที่มีลักษณะต่อไปนี้ (Barrow & Tamblyn, 1980)
  1. ผนวกปัญหาเข้าไปในการบรรยายสาระแบบดั้งเดิม เพื่อจุดประสงค์ของการแสดงตัวอย่าง
  2. การใช้กรณีศึกษาเพื่อช่วยให้เกิดการอภิปรายในการบรรยายแบบดั้งเดิม
  3. การใช้ปัญหาหรือกรณี เพื่อเป็นเครื่องมือในการค้นหาปัญหา หรือประเมินผล
โดยสรุป การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้ปัญหาหรือการจำลองสถานการณ์เป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
ความเป็นมาของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก  เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอน                แบบหนึ่งที่เริ่มต้นใช้ในครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1969 ที่โรงเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ (McMaster University Medical School) ประเทศแคนาดา (อานุภาพ เลขะกุล, นภา หลิมรัตน์, วัลลี สัตยาสัย และ มาโนช โชคแจ่มใส, ม.ป.ป.) โดยคาดหวังให้ผู้เรียนมีบทบาทที่กระตือรือร้นต่อการเรียน ตลอดจนการบวนการเรียนการสอน ทำให้ลดภาวะเครียดจากการเรียนของผู้เรียน (Basanti Majumdar และ พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์, 2544: 47) และในช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ได้เผยแพร่แนวคิดนี้ไปยังนานาประเทศทั่วโลก จนกระทั่งได้มีการกล่าวถึงอย่างมาก และมีการนำมาใช้มากขึ้นในสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป และ ออสเตรเลีย และในปัจจุบันมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก (โครงการปฏิรูปการเรียนรู้, 2545; Basanti Majumdar และ พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์, 2544: 42, 48) โดยในต่างประเทศ ได้มีการนำรูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก  มาใช้ในระบบการศึกษาเป็น ทั้งในคณะแพทยศาสตร์  (Donner & Bickley, 1993; Boudie & Smits, 2002).     พยาบาลศาสตร์ (Baker, 2000; Haith-Cooper, 2000; Cooke & Moyle, 2002)  เภสัชศาสตร์ (Fisher, 1994; Pungente, 2002; Cisneros, 2002).   และทันตแพทยศาสตร์ (Doran, 2000)   ซึ่งปัจจุบันวิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเริ่มแพร่หลายออกไปในหลากหลายสาขาวิชา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ กฎหมาย สถาปัตยกรรม งานด้านสังคม ตลอดจนงานบริหารการศึกษา (Boud Felletti, 1998; Bridges & Hallinger, 1995; Clarke et al1998 อ้างใน สมวงษ์ แปลงประสพโชค, 2546) และในต้นปี 1990 จึงได้เริ่มนำการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานไปใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (ทิพาพร ตันฆศิริ, ม.ป.ป.).   นอกจากนี้สุปรียา วงษ์ตระหง่าน (2536 อ้างใน พัชรากราณต์ อินทะนาค, 2546, หน้า 20-21) ยังได้กล่าวว่า เหตุผลที่มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ได้แก่ 1) เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิชาการมีมากขึ้น เนื้อหาวิชาการที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มีมากเพิ่มขึ้น ในทุกสาขา ทำให้เกิดความขัดข้องในการบริหารการจัดการเรียนการสอน เพราะระยะเวลามีจำกัด จึงต้องมีการเลือกเนื้อหาเฉพาะที่คิดว่าจำเป็นต่อผู้เรียนมากที่สุด 2) เมื่อสำเร็จการศึกษาผู้เรียนจะต้องเผชิญกับปัญหาที่แท้จริง การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักจะเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้เมื่อเผชิญกับปัญหาจริงได้ และ 3) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เลือกสิ่งที่ตนสนใจ อยากรู้อยากเห็นด้วยตนเอง
แนวคิดของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนการสอนแบบ "การเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning)"  ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ภายใต้ความเชื่อว่า ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดในบรรยากาศของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่ถูกสร้างขึ้นบนข้อตกลงร่วมกันและการร่วมมือกัน (Cooperation) มากกว่าการแข่งขันกัน กล่าวคือการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงเทคนิคที่ใช้ในห้องเรียนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นแนวทางที่จะทำงานกับผู้อื่นด้วยการเคารพในความสามารถและมีการสรรค์สร้าง (Contributions) ของสมาชิกในกลุ่ม  มีการแบ่งปันอำนาจ และความรับผิดชอบระหว่างสมาชิกกลุ่ม โดยมีจุดมุ่งหมายให้นักศึกษามีความสามารถดังนี้ 1) เข้าร่วมในการหาความรู้อย่างแข็งขันและอย่างมีความสร้างสรรค์กับงานหรือปัญหาที่มีความท้าทายและมีความซับซ้อน 2) ใช้เหตุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชัดเจนและมีความสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความรู้ที่เป็นองค์รวมและใช้ประโยชน์ได้จริง 3) ติดตามและประเมินความพร้อมของตนเองในการที่จะทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ  4) บอกได้ถึงความรู้และทักษะของตนที่ต้องได้รับการพัฒนา และ 5) ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้งานสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย (Duch, Groh, & Allen, 2001)  
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นทั้งวิธีการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอน  ในด้านการพัฒนาหลักสูตร เป็นวิธีการจัดหลักสูตรให้มีกิจกรรมการเรียนรู้โดยอาศัยปัญหาที่เป็นจริงในการปฏิบัติของวิชาชีพนั้นเป็นตัวแกน ส่วนวิธีการสอนเป็นการใช้ปัญหาเป็นสถานการณ์ที่นำไปสู่การแสวงหาความรู้และทักษะด้วยตนเอง โดยผ่านขั้นตอนการแก้ปัญหาที่จัดไว้ให้ และอาศัยทรัพยากรการเรียนรู้และการอำนวยความสะดวกจากผู้สอน  อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาแบบบูรณาการที่ผสมผสานเนื้อหาวิชา  วิธีการเรียนการสอนและวิธีการประเมินผลโดยเน้นนักศึกษาเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้  มีหลักสำคัญในการจัดให้เกิดการเรียนรู้โดยใช้กลไก 3 ประการคือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning)    การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed Learning) และการเรียนรู้ในกลุ่มย่อย (Small Group Learning) (โครงการปฏิรูปการเรียนรู้, 2545)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น