วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

การสอนจากสถานการณ์จำลองและเกม (Simulation and game)


การสอนจากสถานการณ์จำลองและเกม (Simulation and game)
ความหมาย 
         สถานการณ์จำลอง (Simulation) หมายถึง สถานการณ์หรือกระบวนการจริงเพียงบางส่วน ที่นำมาดัดแปลงจากความเป็นนามธรรม ทำให้ง่ายยิ่งขึ้น โดยปกติผู้ร่วมแสดงในสถานการณ์จำลองจะแสดงบทบาทในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หรือสิ่งแวดล้อมที่จำลองขึ้น
             เกม (Game) หมายถึง การละเล่นชนิดหนึ่งซึ่งอาจทำให้หลายๆ คนเกิดความไม่แน่ใจที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอน ส่วนนักจิตวิทยาทั้งหลายต่างเชื่อว่า เกมหรือการละเล่นจะช่วยให้มนุษย์เกิดความรู้ และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ขึ้นได้ และการละเล่นจะช่วยพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ขึ้น เพราะส่วนหนึ่งของชีวิตขึ้นอยู่กับการละเล่นด้วย ในสังคมของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ ได้ใช้การละเล่นในการสอนทักษะเพื่อความอยู่รอด สรุปว่า การละเล่นจัดเป็นกลไกสำคัญ ในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
        เกมจำลองสถานการณ์ (Simulation Games) หมายถึงการผสมผสานระหว่างการแสดงบทบาทเข้ากับเกมซึ่งมีกฎเฉพาะ และอาจคล้ายคลึงกับความเป็นจริงมากหรือน้อยแล้วแต่สถานการณ์ และอาจมีการแข่งขันรวมอยู่ด้วย หรือไม่ก็ได้
             เกมจำลองสถานการณ์ คือ วิธีสอนที่ผู้สอนนำเอาสถานการณ์จริงมาจำลองไว้ในห้องเรียนพยายามให้มีสภาพเหมือนจริงมากที่สุด และกำหนดกติกา กฎ หรือเงื่อนไขสำหรับเกมนั้น แล้วแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มๆ เข้าไปแข่งขันหรือเล่นในสถานการณ์จำลองนั้น ผู้เรียนจะต้องเผชิญกับปัญหาและต้องแข่งขันกับฝ่ายตรงข้ามจึงต้องมีการตัดสินใจของกลุ่มเพื่อมุ่งเอาชนะกัน

               การสอนแบบเกมจำลองสถานการณ์ (Simulation Gaming) เป็นวิธีสอนที่พัฒนามาจากการแสดง
บทบาทสมมติ การเล่นเกม และการจำลองสถานการณ์
การออกแบบเกม/สถานการณ์จำลอง
1.       เลือกเนื้อหาและกำหนดขอบเขตของกิจกรรม
2.       กำหนดกลุ่มผู้เรียน
3.       กำหนดจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและมีเจตคติที่ดี
4.       พัฒนารูปแบบเกมและสถานการณ์จำลอง ซึ่งสามารถพัฒนาได้ ดังนี้
4.1 สร้างฉากการแสดง (สำหรับสถานการณ์จำลอง)
4.2 อธิบายบทบาทการแสดง
4.3 สร้างแรงจูงใจ
4.4 อธิบายข้อจำกัดและแหล่งข้อมูล
4.5 กำหนดกิจกรรม
4.6 กำหนดผลที่จะเกิดขึ้น
5.       การพัฒนากฏเกณฑ์
5.1 ขั้นตอนการแสดง
5.2 การให้คะแนน
6.        การพัฒนากิจกรรมและสื่อต้นแบบ
6.1 สื่อสำหรับผู้แสดง
6.2 คูมือครูและผู้กำกับ
6.3 คู่มือแนะนำอื่นๆ


การสอนแบบกรณีศึกษา (Case base)

การสอนแบบกรณีศึกษา (Case base)

      กรณีศึกษา (Case Study) คือ เรื่องราวที่มีข้อความบรรยายหรือ เรื่องราวที่ใช้สำหรับศึกษา” (Herried,1997) สาขาแรกเริ่มที่ใช้กรณีศึกษามาช่วยในการเรียนการสอนคือกลุ่มสาขาธุรกิจและสาขาการแพทย์ ทั้งนี้เพราะลักษณะของกรณีศึกษาจะมีเนื้อหาที่เป็นปัญหาท้าทายให้ผู้เรียนได้คิดแก้ปัญหาก่อนที่จะได้ลงมือปฏิบัตินั่นเอง(Sykes and Bird, 1992) ซึ่งการนำกรณีศึกษาเข้ามาใช้จัดเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เรียกว่า Problem-based Learning(PBL) เป็นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เป็นผลมาจากการแก้ปัญหาโดยใช้ความรู้ที่ผู้เรียนทำการสืบค้นเอง (Barrows and Tamblyn, 1980) ซึ่งการสอนโดยใช้กรณีศึกษานั้นจะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ในบริบทของสิ่งต่างๆ หรือสภาพแวดล้อมที่ผู้เรียนรู้แล้ว ทำให้ง่ายต่อการเชื่อมโยงแนวคิดวิทยาศาสตร์ที่เป็นนามธรรมกับสิ่งต่างๆ ที่ผู้เรียนเคยรู้ เคยเห็น และเคยใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงเป็นที่ยอมรับว่ากรณีศึกษาทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ (Bransford et al., 1999) ด้วยเหตุผลดังนี้คือ
1. ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองบนพื้นฐานจากสิ่งที่รู้อยู่แล้วกับสิ่งที่ผู้เรียนสนใจนำมาสัมพันธ์
กับกรณีศึกษา ทำให้พัฒนาการสร้างคำถามที่มีความหมายทางวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การสืบค้นต่อไป
2. ในระหว่างที่ผู้เรียนวิเคราะห์กรณีศึกษานั้น ผู้เรียนจะต้องทำงานเป็นกลุ่มอย่างร่วมมือร่วมใจกันเพื่อหา
ข้อสรุปของกลุ่มว่าได้รู้อะไรบ้างจากกรณีศึกษา และอยากรู้อะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง
3. ผู้เรียนจะได้เรียนรู้การเคารพความคิดซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีกระบวนการปรับแนวความคิดที่
คลาดเคลื่อนของสมาชิกในระหว่างที่มีการอภิปรายในกลุ่มกรณีศึกษา สามารถใช้ได้ทั้งด้านการสอนและการประเมิน (Dori, 2003 และ Dori and Herscovitz, 1999)ซึ่งการใช้กรณีศึกษาช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง โดยกรณีศึกษาที่นำมาใช้ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์นั้นควรเป็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่ผู้เรียนพบในชีวิตประจำวันหรือพบเห็นในข่าวที่ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งใกล้ตัวผู้เรียน ซึ่งสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้เรียนได้ศึกษา วิเคราะห์ทำให้ผู้เรียนเข้าใจปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีเหตุผล (Herreid, 1994; 1997 และสุคนธ์ และคณะ, 2545) นักการศึกษาที่สนใจการใช้กรณีศึกษาสำหรับการสอนวิทยาศาสตร์ระบุว่าวิธีการนี้มีประสิทธิภาพที่จะช่วยทำให้ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ที่ดีขึ้นทั้งด้านความเข้าใจเนื้อหาวิทยาศาสตร์ การตั้งคำถาม และการคิดวิพากษ์วิจารณ์ (Dori and Herscovitz, 1999; Dori and Tal, 2000; และ Hofstein et al., 1999) นอกจากนี้การใช้กรณีศึกษาในการสอนวิทยาศาสตร์ยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน และยังเหมาะแก่การใช้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับการวัดและประเมินผลผู้เรียนเกี่ยวกับทักษะการคิดได้อีกด้วย (Dori, 2003 และ Wassermann, 1994) ซึ่งกรณีศึกษาที่นำมาใช้มีลักษณะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง เป็นตัวอย่างที่นำมาใช้สำหรับการศึกษาได้อย่างเหมาะสม โดยลักษณะของกรณีศึกษาแบ่งออกเป็นกรณีศึกษาปลายปิด (close-ended case study) คือกรณีศึกษามีแนวทางการแก้ปัญหาไว้เรียบร้อยแล้ว และกรณีศึกษาปลายเปิด (open-ended case study) เป็นกรณีศึกษาที่ยังไม่ระบุแนวทางการแก้ปัญหาและรอกาแก้ปัญหาจากผู้เรียน
องค์ประกอบที่สำคัญในการใช้กรณีศึกษาสำหรับห้องเรียนวิทยาศาสตร์นั้นควรมีองค์ประกอบใน 3
ด้านหลักได้แก่ กรณีศึกษาที่ใช้ กิจกรรมผู้เรียน และบรรยากาศในห้องเรียน (Dori and Herscovitz, 2005) โดยในแต่ละองค์ประกอบควรมีลักษณะที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
1. กรณีศึกษาที่ใช้ ควรมีลักษณะดังนี้
1.1 เขียนด้วยข้อความบรรยายที่ชัดเจน ช้คำสอดคล้องกัน และไม่ควรมีความยาวจนเกินไป
1.2 มีเนื้อหาบนพื้นฐานของเรื่องจริง และมีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของผู้เรียน
1.3 มีจุดเน้นที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือข้อปัญหา หรือความท้าทายในด้านวิทยาศาสตร์
1.4 กระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การสืบเสาะหาความรู้หรือแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป (หาก
เป็นกรณีศึกษาแบบปิดที่มีแนวทางการแก้ปัญหาแล้ว ควรมีการนำเสนอแนวทางนั้นๆ อย่างมีเหตุผลตาม
หลักการทางวิทยาศาสตร์)
1.5 ส่งเสริมให้มีการบูรณาการทางวิชาการเช่น มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และสังคม
นอกเหนือจากเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์
2. กิจกรรมผู้เรียน ควรมีลักษณะดังนี้
2.1 สร้างคำถามให้ผู้เรียนที่ส่งเสริมทักษะการคิดหลายด้าน เช่น
- ความเข้าใจในเนื้อหาวิทยาศาสตร์
- การนำความรู้เดิมมาใช้
- การคิดวิเคราะห์ข้อมูล
- การแสดงความคิดเห็นสำหรับการโต้แย้งได้อย่างเหมาะสม
- การตั้งคำถามหรือนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์โดยคำนึงถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละ
แนวทางการแก้ปัญหา
2.2 ทำกิจกรรมเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การทดลอง การเขียนแผนผังแนวคิด การอภิปรายในชั้นเรียน การออก
สำรวจ การโต้วาที เป็นต้น
2.3 การบูรณาการเพิ่มเติมด้วยกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อม หรือกิจกรรมทางสังคม
3. บรรยากาศในห้องเรียน ควรมีลักษณะ ดังนี้
3.1 ส่งเสริมให้นักเรียนมีอิสระในการเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
3.2 การเรียนแบบร่วมมือในกลุ่มเล็กๆ
3.3 ส่งเสริมให้ผู้เรียนประเมินตนเอง
ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับกรณีศึกษานั้น สุคนธ์ และคณะ (2545) ได้นำเสนอขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นเตรียม ควรมีการแนะนำวิธีการศึกษากรณีให้ชัดเจนถึงจุดมุ่งหมายหรือปัญหาที่ผู้เรียนจะต้องพิจารณา
การตอบคำถามหลังการอ่าน และแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อยตามความเหมาะสมกลุ่มละ 5-7 คน
2. ขั้นเสนอกรณีศึกษา ผู้สอนอาจมีการใช้สื่อประกอบ เช่น เอกสาร หรือ รูปภาพ เพื่อให้ผู้เรียนได้ทบทวนใน
ขั้นวิเคราะห์
3. ขั้นวิเคราะห์ ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันอภิปรายระดมพลังสมอง รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และแสดงความ
คิดเห็นเกี่ยวกับกรณีศึกษา เพื่อตัดสินใจหาแนวทางแก้ปัญหาและสรุปผลการอภิปรายของสมาชิกกลุ่ม (อาจมี
ตัวแทนกลุ่มนำเสนอผลการอภิปรายต่อชั้นเรียน หรือเป็นอภิปรายทั้งชั้นเรียนก็ได้)
4. ขั้นสรุป ผู้เรียนทั้งชั้นเรียนร่วมกับผู้สอนอภิปรายหาข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหา และแนวทางในการ
ตัดสินใจแก้ปัญหาจากกรณีศึกษา ซึ่งควรสอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์
5. ขั้นประเมิน สามารถประเมินได้จากการตอบปัญหา การสังเกตการร่วมสนทนา การรายงาน การตอบคำถาม
และการทำงานกลุ่มของผู้เรียน



http://www.lic.chula.ac.th/-case-based.html

การสอนแบบ Project base

การสอนแบบ Project base

การเรียนรู้ด้วยโครงงาน (Project-based Learning)

การเรียนรู้ด้วยโครงงาน เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นการให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงในลักษณะของการศึกษา สำรวจ ค้นคว้า ทดลอง ประดิษฐ์คิดค้น โดยครูเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ให้ความรู้ (teacher) เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) หรือผู้ให้คำแนะนำ (guide) ทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนทำงานเป็นทีม กระตุ้น แนะนำ และให้คำปรึกษา เพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วง   ประโยชน์ของการเรียนรู้ด้วยโครงงาน สิ่งที่ผู้เรียนได้รับจากการเรียนรู้ด้วย PBL จึงมิใช่ตัวความรู้ (knowledge) หรือวิธีการหาความรู้ (searching) แต่เป็นทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (learning and innovation skills) ทักษะชีวิตและประกอบอาชีพ (Life and Career skills) ทักษะด้านข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารและเทคโนโลยี (Information Media and Technology Skills) การออกแบบโครงงานที่ดีจะกระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าอย่างกระตือรือร้นและผู้เรียนจะได้ฝึกการใช้ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และแก้ปัญหา (critical thinking & problem solving) ทักษะการสื่อสาร (communicating) และทักษะการสร้างความร่วมมือ (collaboration)ประโยชน์ที่ได้สำหรับครูที่นอกจากจะเป็นการพัฒนาคุณภาพด้านวิชาชีพแล้ว ยังช่วยให้เกิดการทำงานแบบร่วมมือกับเพื่อนครูด้วยกัน รวมทั้งโอกาสที่จะได้สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนด้วย
ขั้นตอนที่สำคัญในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน
STEP 1 การเตรียมความพร้อม ครูเตรียมมอบหมายโครงงานโดยระบุในแผนการสอน ในชั้นเรียนครูอาจกำหนดขอบเขตของโครงงานอย่างกว้างๆ ให้สอดคล้องกับรายวิชา หรือความถนัดของนักเรียน และเตรียมแหล่งเรียนรู้ ข้อมูลตัวอย่าง เพื่อเป็นแนวทางให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม สามารถใช้เว็บไซต์ หรือโปรแกรม moodle ในการ update ข้อมูลแหล่งเรียนรู้ และการกำหนดนัดหมายต่างๆเกี่ยวกับการดำเนินโครงการได้  
STEP 2 การคิดและเลือกหัวข้อ ให้นักเรียนเป็นผู้สร้างทางเลือกในการออกแบบโครงงานเอง เพื่อเปิดโอกาสให้รู้จักการค้นคว้าและสร้างสรรค์ความรู้เชิงนวัตกรรม ครูอาจให้ผู้เรียนทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกหัวข้อ การทำงานเป็นทีม กระตุ้นให้เกิด brain storm จะทำให้เกิดทักษะ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์  ทักษะการสื่อสาร และทักษะการสร้างความร่วมมือ
STEP 3 การเขียนเค้าโครง การเขียนเค้าโครงของโครงงาน เป็นการสร้าง mind map แสดงแนวคิด แผน และขั้นตอนการทำโครงงาน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมองเห็นภาระงาน บทบาท และระยะเวลาในการดำเนินงาน ทำให้สามารถปฏิบัติโครงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
STEP 4 การปฏิบัติโครงงาน นักเรียนลงมือปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ในเค้าโครงของโครงงาน ถ้ามีการวางเค้าโครงเอาไว้แล้ว นักเรียนจะรู้ได้เองว่าจะต้องทำอะไรในขั้นตอนต่อไป โดยไม่ต้องรอถามครู ในระหว่างการดำเนินการครูผู้สอนอาจมีการให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดหรือร่วมแก้ปัญหาไปพร้อมๆกับนักเรียน  
STEP 5 การนำเสนอโครงงาน นักเรียนสรุปรายงานผล โดยการเขียนรายงาน หรือการนำเสนอในรูปแบบอื่นๆเช่น แผ่นพับ โปสเตอร์จัดนิทรรศการ รายงานหน้าชั้นส่งงานทางเว็บไซต์หรืออีเมล ถ้ามีการประกวดหรือแข่งขันด้วยจะทำให้นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นมากขึ้น
STEP 6 การประเมินผลโครงงาน การประเมินโครงงานควรมีการประเมินผลการเรียนรู้โดยหลากหลาย (muiti evaluation) เช่น นักเรียนประเมินตนเอง ประเมินซึ่งกันและกัน ประเมินจากบุคคลภายนอก การประเมินจะไม่วัดเฉพาะความรู้หรือผลงานสุดท้ายเพียงอย่างเดียว แต่จะวัดกระบวนการที่ได้มาซึ่งผลงานด้วย การประเมินโดยครูหลายคนจะเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูด้วยกันอีกด้วย   แหล่งเรียนรู้
http://www.edutopia.org/project-based-learning



http://digitalmedia.spu.ac.th/e-learning/content2.html


การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก

การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก 

ความหมายของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก

ในการศึกษาความหมายของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) หมายถึง การเรียน การสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้ปัญหาเป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนมีการตัดสินใจที่ดีมีความคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถเรียนรู้การทำงานเป็นทีม ใฝ่รู้ และมีการเรียนรู้อย่าง ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถก้าวทันกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลก วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการเรียนรู้ (Duch, Groh, & Allen, 2001). การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) หมายถึง วิธีการเรียนรู้     บนหลักการของการใช้ปัญหาเป็นจุดเริ่มต้นในการเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่เดิม ให้ผสมผสานกับข้อมูลใหม่ แล้วประมวลเป็นกับความใหม่ (Barrows, 1982)การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) เป็นวิธีการเรียนรู้ที่เป็น         ผลจากการแก้ปัญหา โดยใช้ความรู้ที่ผู้เรียนทำการสืบค้นเอง (Neufeld & Barrow, 1974; Schmidt, 1993; Barrows, 2000 อ้างถึงใน นภา หลิมรัตน์, 2546) 
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างจากวิธีการสอนแบบดั้งเดิมที่เน้นตัวสาระความรู้ และมุ่งเน้นที่ตัวผู้สอนเป็นสำคัญ แต่จะมุ่งเน้นที่ตัวผู้เรียน โดยถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือผู้เรียนเป็นบุคคลสำคัญ โดยมุ่งที่การใช้ปัญหาจริงหรือการจำลองสถานการณ์เป็นตัวเริ่มต้น (Trigger) กระตุ้นการเรียนรู้ ทักษะการคิดวิจารณญาณใน            ตัวผู้เรียน นำประเด็นจากปัญหาไปสู่การสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อเรียนรู้เพิ่มขึ้น และสร้างความเข้าใจกลไกของตัวปัญหา รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งตามความหมายดังกล่าว การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนที่มีลักษณะต่อไปนี้ (Barrow & Tamblyn, 1980)
  1. ผนวกปัญหาเข้าไปในการบรรยายสาระแบบดั้งเดิม เพื่อจุดประสงค์ของการแสดงตัวอย่าง
  2. การใช้กรณีศึกษาเพื่อช่วยให้เกิดการอภิปรายในการบรรยายแบบดั้งเดิม
  3. การใช้ปัญหาหรือกรณี เพื่อเป็นเครื่องมือในการค้นหาปัญหา หรือประเมินผล
โดยสรุป การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้ปัญหาหรือการจำลองสถานการณ์เป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
ความเป็นมาของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก  เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอน                แบบหนึ่งที่เริ่มต้นใช้ในครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1969 ที่โรงเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ (McMaster University Medical School) ประเทศแคนาดา (อานุภาพ เลขะกุล, นภา หลิมรัตน์, วัลลี สัตยาสัย และ มาโนช โชคแจ่มใส, ม.ป.ป.) โดยคาดหวังให้ผู้เรียนมีบทบาทที่กระตือรือร้นต่อการเรียน ตลอดจนการบวนการเรียนการสอน ทำให้ลดภาวะเครียดจากการเรียนของผู้เรียน (Basanti Majumdar และ พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์, 2544: 47) และในช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ได้เผยแพร่แนวคิดนี้ไปยังนานาประเทศทั่วโลก จนกระทั่งได้มีการกล่าวถึงอย่างมาก และมีการนำมาใช้มากขึ้นในสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป และ ออสเตรเลีย และในปัจจุบันมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก (โครงการปฏิรูปการเรียนรู้, 2545; Basanti Majumdar และ พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์, 2544: 42, 48) โดยในต่างประเทศ ได้มีการนำรูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก  มาใช้ในระบบการศึกษาเป็น ทั้งในคณะแพทยศาสตร์  (Donner & Bickley, 1993; Boudie & Smits, 2002).     พยาบาลศาสตร์ (Baker, 2000; Haith-Cooper, 2000; Cooke & Moyle, 2002)  เภสัชศาสตร์ (Fisher, 1994; Pungente, 2002; Cisneros, 2002).   และทันตแพทยศาสตร์ (Doran, 2000)   ซึ่งปัจจุบันวิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเริ่มแพร่หลายออกไปในหลากหลายสาขาวิชา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ กฎหมาย สถาปัตยกรรม งานด้านสังคม ตลอดจนงานบริหารการศึกษา (Boud Felletti, 1998; Bridges & Hallinger, 1995; Clarke et al1998 อ้างใน สมวงษ์ แปลงประสพโชค, 2546) และในต้นปี 1990 จึงได้เริ่มนำการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานไปใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (ทิพาพร ตันฆศิริ, ม.ป.ป.).   นอกจากนี้สุปรียา วงษ์ตระหง่าน (2536 อ้างใน พัชรากราณต์ อินทะนาค, 2546, หน้า 20-21) ยังได้กล่าวว่า เหตุผลที่มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ได้แก่ 1) เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิชาการมีมากขึ้น เนื้อหาวิชาการที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มีมากเพิ่มขึ้น ในทุกสาขา ทำให้เกิดความขัดข้องในการบริหารการจัดการเรียนการสอน เพราะระยะเวลามีจำกัด จึงต้องมีการเลือกเนื้อหาเฉพาะที่คิดว่าจำเป็นต่อผู้เรียนมากที่สุด 2) เมื่อสำเร็จการศึกษาผู้เรียนจะต้องเผชิญกับปัญหาที่แท้จริง การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักจะเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้เมื่อเผชิญกับปัญหาจริงได้ และ 3) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เลือกสิ่งที่ตนสนใจ อยากรู้อยากเห็นด้วยตนเอง
แนวคิดของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนการสอนแบบ "การเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning)"  ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ภายใต้ความเชื่อว่า ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดในบรรยากาศของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่ถูกสร้างขึ้นบนข้อตกลงร่วมกันและการร่วมมือกัน (Cooperation) มากกว่าการแข่งขันกัน กล่าวคือการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงเทคนิคที่ใช้ในห้องเรียนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นแนวทางที่จะทำงานกับผู้อื่นด้วยการเคารพในความสามารถและมีการสรรค์สร้าง (Contributions) ของสมาชิกในกลุ่ม  มีการแบ่งปันอำนาจ และความรับผิดชอบระหว่างสมาชิกกลุ่ม โดยมีจุดมุ่งหมายให้นักศึกษามีความสามารถดังนี้ 1) เข้าร่วมในการหาความรู้อย่างแข็งขันและอย่างมีความสร้างสรรค์กับงานหรือปัญหาที่มีความท้าทายและมีความซับซ้อน 2) ใช้เหตุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชัดเจนและมีความสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความรู้ที่เป็นองค์รวมและใช้ประโยชน์ได้จริง 3) ติดตามและประเมินความพร้อมของตนเองในการที่จะทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ  4) บอกได้ถึงความรู้และทักษะของตนที่ต้องได้รับการพัฒนา และ 5) ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้งานสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย (Duch, Groh, & Allen, 2001)  
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นทั้งวิธีการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอน  ในด้านการพัฒนาหลักสูตร เป็นวิธีการจัดหลักสูตรให้มีกิจกรรมการเรียนรู้โดยอาศัยปัญหาที่เป็นจริงในการปฏิบัติของวิชาชีพนั้นเป็นตัวแกน ส่วนวิธีการสอนเป็นการใช้ปัญหาเป็นสถานการณ์ที่นำไปสู่การแสวงหาความรู้และทักษะด้วยตนเอง โดยผ่านขั้นตอนการแก้ปัญหาที่จัดไว้ให้ และอาศัยทรัพยากรการเรียนรู้และการอำนวยความสะดวกจากผู้สอน  อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาแบบบูรณาการที่ผสมผสานเนื้อหาวิชา  วิธีการเรียนการสอนและวิธีการประเมินผลโดยเน้นนักศึกษาเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้  มีหลักสำคัญในการจัดให้เกิดการเรียนรู้โดยใช้กลไก 3 ประการคือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning)    การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed Learning) และการเรียนรู้ในกลุ่มย่อย (Small Group Learning) (โครงการปฏิรูปการเรียนรู้, 2545)


การสอนแบบบรรยาย


คำอธิบาย: http://static.ak.fbcdn.net/rsrc.php/v2/yb/r/GsNJNwuI-UM.gifวิธีสอนแบบบรรยาย (Lecture Method)
ความหมาย
การบรรยาย คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ กำหนด โดยการเตรียมเนื้อหาสาระ แล้วบรรยาย คือ พูด บอก เล่า อธิบายเนื้อหาสาระหรือสิ่งที่ต้องการสอนแก่ผู้เรียน ให้ผู้เรียนซักถามแล้วประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการอย่างใด อย่างหนึ่ง (ทิศนา แขมมณี, 2544, หน้า 13)การ บรรยายเป็นวิธีถ่ายทอดความรู้ที่ใช้กันมานานในการเรียนการสอนในระดับอุดม ศึกษาเนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก สามารถสอนหรือบรรยายให้ผู้ฟังได้ทีละมากๆ โดยทั่วไปจะใช้ในกรณีที่ต้องการนำเสนอความรู้ครั้งละมากๆ โดยใช้เวลาไม่มากนักจึงจัดเป็นวิธีสอนที่ประหยัดเวลาในการเรียนการสอนได้ เป็นอย่างดี วิธีนี้จะเหมาะสมมากหากผู้บรรยายมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีความรู้ในเนื้อหานั้นเป็นพิเศษ และต้องการให้ผู้ฟังได้คำอธิบายขยายความ หรือแนวคิดที่แปลกใหม่เป็นข้อมูลที่หาอ่านจากเอกสารทั่วไปไม่ได้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อผู้เรียนที่มีจำนวนมากได้เรียนเนื้อหาสาระความรู้ที่มีจำนวนมากในเวลาที่จำกัด
2. เพื่อให้ความรู้ประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เรียนซึ่งค้นหายากหรือเป็นประสบการณ์เฉพาะของผู้สอนเอง
3. เพื่อช่วยนำทางในการศึกษาด้วยตนเอง
4. เพื่อช่วยสรุปประเด็นสำคัญ
องค์ประกอบของการสอน
1.       มีเนื้อหาสาระ หรือ ข้อความรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
2.       มีการบรรยาย (พูด บอก เล่า อธิบาย)
3.       มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจาการบรรยาย
 ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบบรรยาย
1. เป็นการสอนที่เน้นเนื้อหาสาระที่นำเสนอโดยครูผู้สอน ผู้บรรยายจะเสนอปัญหาวิธีการ
ต่างๆในการแก้ปัญหา และสรุปด้วยว่าวิธีการใดเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดตามหลักการ
2. เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้หลายๆแนวคิดก่อนที่จะสรุปเป็นข้อคิดหรือทางเลือกที่เหมาะสม
ขั้นตอนการสอน
1.ขั้นเตรียมการสอน ประกอบด้วย
1.1     วินิจฉัยผู้เรียน โดยพิจารณาถึงพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์เดิม ความสามารถของผู้เรียน อาจใช้วิธีพูดคุย ซักถาม หรือแบบทดสอบก่อนเรียนเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการเตรียมเนื้อหาและวิธีการสอน
1.2     เตรียมเนื้อหา โดยพิจารณาถึงความละเอียด ลึกซึ้ง มากน้อย และตามลำดับของเนื้อหา ให้เหมาะสมกับเวลาและลักษณะของผู้เรียน
1.3     เตรียมคำถาม เพื่อใช้ถามผู้เรียนระหว่างการบรรยาย จะช่วยให้ผู้เรียนตื่นตัวและสนใจได้ดีขึ้น
1.4     เตรียมสื่อการเรียนการสอน โดยเตรียมสื่อให้พร้อมอยู่ในสภาพใช้การได้ดี อาจเป็น สไลด์ แผ่นใส ภาพ ฯลฯจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น
1.5     ขั้นเตรียมการวัดและประเมินผล อาจจัดทำเป็นการทดสอบหลังเรียน เพื่อวัดดูว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ หรือมากน้อยเพียงไร
2. ขั้นสอน ประกอบด้วย
2.1 ขั้นนำ อาจใช้วิธี
1)       ซักถามพูดคุยกับผู้เรียน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเรียน
2)       ทบทวนการบรรยายในครั้งก่อนเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องใหม่
1.2     ขั้นอธิบาย เป็นขั้นสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน ผู้สอนควรได้ดำเนินการ ดังนี้
1)       บอกโครงเรื่อง เครือข่ายของเนื้อหา และแจ้งจุดประสงค์ของบทเรียน
2)       อธิบายให้ชัดเจนตามลำดับเนื้อหาอย่างต่อเนื่องกัน
3)       สังเกตปฏิกิริยาตลอดเวลาเพื่อการย้ำหรือหยุดทบทวนใหม่
4)       ถามคำถามในบางตอนเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน
5)       ยกตัวอย่างประกอบ เพื่อเพิ่มความแจ่มแจ้งในบทเรียน
6)       ใช้น้ำเสียง บุคลิกภาพ ท่าทีการพูดอธิบาย การใช้ภาษา อารมณ์ขันที่เหมาะสม
1.3     ขั้นสรุป เป็นการปิดท้ายชั่วโมงการบรรยาย อาจใช้วิธี
1)       สรุปโยงเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบ
2)       ตั้งปัญหาให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ วิจารณ์
3)       ฝากปัญหาให้ผู้เรียนไปคิดต่อ
4)       เปิดโอกาสให้ผู้เรียนไดซักถามปัญหา
5)       มอบหมายงายให้ผู้เรียนไปค้นคว้าต่อเพิ่มเติม
6)       บอกล่วงหน้าถึงเนื้อหาที่จะเรียนในครั้งต่อไป
3. ขั้นติดตามผล ประกอบด้วย
3.1วัดและประเมินผลผู้เรียน โดยอาจใช้วิธี
1)       ตรวจสมุดบันทึกที่ผู้เรียนจดบรรยาย
2)       ถามคำถามในเนื้อหาที่บรรยาย
3)       ให้ทำข้อสอบหรือแบบฝึกหัดเพิ่มเติม
3.2วัดผล ประเมินผลผู้สอน โดยอาจใช้วิธี
1)       จัดทำแบบสอบถามให้ผู้เรียนได้ทราบความคิดเห็น เกี่ยวกับวิธีการสอน การอธิบาย การใช้น้ำเสียง บุคลิกท่าทาง
2)       ให้เพื่อนครูได้เข้าสังเกตการณ์สอน แล้วให้ข้อเสนอแนะเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการสอน
3)       บันทึกการบันยายของตนแล้วนำไปพิจารณา ประเมิน
ข้อดีของการสอนแบบบรรยาย
1. ประหยัดเวลา เพราะสามารถใช้กับผู้เรียนได้จำนวนมาก
2. ผู้สอนสามารถนำความรู้ที่เป็นจุดเด่นจากตำราหลายๆ เล่มมาประมวล บูรณาการไว้ด้วยกันในการบรรยาย
3. สำหรับเนื้อหายุ่งยากและซับซ้อน ผู้เรียนได้ฟังบรรยายแล้วจะเข้าใจง่ายกว่าไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่า และอาจไม่เข้าใจ
4. ผู้เรียนได้ฟังความคิดเห็นหรือข้อชี้แนะจากผู้สอนที่มีความรู้และประสบการณ์มากกว่าทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะเรียนดีขึ้น
5. ดำเนินการสอนได้รวดเร็ว
6. ผู้เรียนไม่ต้องทำงานมาก รับรู้เรื่องราวได้โดยตรง
7. เหมาะสมกับเนื้อหาที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน
8. ฟังการบรรยายก็เข้าใจง่ายกว่าค้นหาเอง

ข้อเสียของการสอนแบบบรรยาย
 1. ถ้าใช้บ่อยๆ โดยไม่พิจารณาความเหมาะสม อาจทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย เพราะผู้เรียนมีส่วนร่วมใน    กิจกรรมการเรียนการสอนด้วย
       2. ไม่เอื้อต่อการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ซึ่งเป็นความสามารถทางปัญญาชั้นสูง
       3. ไม่ค่อยเกิดการพัฒนาด้านเจตคติและทักษะพิสัย
       4. เป็นการสอนที่เน้นครูหรือผู้สอนเป็นศูนย์กลาง
5. ความรู้ที่ได้รับจากการฟังเพียงอย่างเดียวอาจลืมง่าย เป็นความทรงจำที่ไม่ถาวร
6. ผู้สอนต้องรู้จักการสร้างบรรยากาศด้วยวาทศิลป์ เพื่อมิให้ผู้ฟังสูญเสียความสนใจ
7. ครูควรแสดงท่าทางประกอบการเคลื่อนไหวบ้างพอสมควรอย่าให้มากเกินไป
8. ครูควรบรรยายจากข้อมูลไปหาข้อสรุปหรือกฎเกณฑ์จะช่วยให้เด็กได้พัฒนาทางด้านความคิดเป็นอย่างมาก
9. ควรมีการซักถามเด็กบ้างระหว่างที่บรรยายเช่น ให้ช่วยออกความคิดเห็นต่างๆ เป็นต้น
10. เสียงดังชัดเจนมีการเน้นสูงต่ำเป็นจังหวะ
11. ใช้ภาษาและคำพูดง่ายๆ ให้เด็กฟังแล้วเข้าใจ
12. ครูควรใช้รูปภาพหรือวัสดุอื่นประกอบคำอธิบาย
13. เป็นวิธีการสอนผู้เรียนมีบทบาทน้อยจึงทำให้ผู้เรียนขาดความสนใจในการบรรยาย
14. เป็นวิธีการสอนที่ไม่สามารถสนองตอบความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคล

บรรณานุกรม
วนิช บรรจง,หลักการสอน,พิมพ์ครั้งที่4,กรุงสยามการพิมพ์,กรุงเทพฯ: 2519.
ทิศนา แขมมณี,14วิธีการสอนสำหรับครูมืออาชีพ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,กรุงเทพฯ: 2544